วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติของเกลือ



          ประวัติศาสตร์ของ “เกลือ” มีความสำคัญไม่น้อยกว่าประวัติศาสตร์ ไหมไทย จนมีคำกล่าวเทียบเคียงเส้นทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางธุรกิจสายแรกของ ยุโรป เนื่องจากเกลือเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น โซเดียมกับคลอรีน ร่างกายต้องการเกลือเพื่อรักษาสมดุลและความดันโลหิต ในสมัยเกลือในยุโรปสามารถแลกกับ เพชรนิลจินดา ทองคำได้  ชาวโรมันใช้เกลือจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง  และชาวจีน ขุนนางจีนโบราณ สามารถใช้เกลือนำไปสู่การขึ้นตำแหน่ง ที่สามารถควบคุมการผลิต และการค้าได้

รูปที่ 1 แปลงนาเกลือ หมู่ที่ 2 ตำบลตันหยงลูโล๊ะ
          ปัตตานีเป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ที่มีการทำนาเกลือ มายาวนานกว่าประมาณ 400 ปี  กล่าว คือในสมัยราชินีฮีเยา เป็นเจ้าเมืองปัตตานี (พ.ศ.2127-2159) กิจกรรมทำนาเกลือที่ปัตตานีเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ และเป็นนาเกลือเพียงแห่งเดียวบนคาบสมุทรมลายู นับตั้งแต่คอคอดกระ ลงไปจนสุดปลายแหลม
          ในระยะ 100 ปี ที่ผ่านมา เกลือเป็นสินค้าสำคัญของเมืองปัตตานี ดังที่ปรากฏในบันทึก (หนังสือ มัสยิดกรือเซะ มรดกอารยธรรมปัตตานี) ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่รายงานทูลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสเมืองปัตตานีเมื่อปี พ.ศ.2439 ตอนหนึ่งว่า
          “ภูมิลำเนาของเมืองทั้งเจ็ด ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปเห็นแลได้สืบสวนเมืองที่บริบูรณ์อย่างประหลาด จะหาเมืองมลายูเมืองใดเปรียบได้เสมอเป็นอันไม่มี เมืองตานีมีเกลืออย่างเดียว ตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงเกวียนละ 16 เหรียญ”


รูปที่ 2 ท่าเทียบเรือสำเภารับซื้อเกลือในอดีต
          จากเอกสารหลักฐาน (วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 “เรื่องเล่าจากชุมชน คนทำเกลือที่ปัตตานี” นราวดี โสหะจินดา) ที่กล่าวถึงการทำนาเกลือปรากฏอีกครั้ง ในสมัยการปกครองเมืองปัตตานี ของรายาฮิเยา (พ.ศ. 2127-2159) สืบเนื่องจากน้ำในคลองกรือเซะมีความเค็ม ทำให้ราษฎรที่ทำนาข้าวบริเวณต้นน้ำเหนือลำคลองทำนาไม่ได้ผล รายาฮิเยารับสั่งให้ราษฎร พร้อมใจกันขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำเป็นผลให้น้ำจืดลง ราษฎรสามารถทำนาข้าวได้ แต่บริเวณปลายน้ำซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ของนาเกลือ เมื่อน้ำจืดทำให้ทำนาเกลือไม่ได้ผลจึงมีการแก้ไขอีกครั้งในสมัยรายาบีรู (พ.ศ. 2159-2167) โดยพระองค์มีพระบัญชาให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ไหลมาจากด้านเหนือ เพื่อป้องกันน้ำจืดรุกเข้ามาทางปลายน้ำ ราษฎรก็สามารถทำนาเกลือได้อีกครั้ง มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเซอร์จอห์น เบาริ่ง เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสยามและบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ ในปี พ.ศ. 2398 เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองปัตตานีว่า "ปัตตานีเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันในหมู่นักเดินเรือในสมัยโบราณ และเคยใช้เป็นสถานีการค้า ของต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับสยาม กัมพูชา และจีน...ข้าว เกลือ ทอง และดีบุก เป็นผลผลิตหลักของปัตตานี" (เซอร์จอห์น เบาริ่ง, 2547 : 65)

รูปที่ 3 สุสานราชินีฮีเยา
          ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2427 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ เสด็จไปยังหัวเมืองทางภาคใต้ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับการเสด็จครั้งนี้ไว้ ให้ชื่อว่าชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่างๆ ภาค 7 ในพระนิพนธ์ตอนเมืองสงขลา มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า "เรือค้าขายของคอเวอนเมนต์มีอยู่ลำหนึ่ง ชื่อเรือจำเริญสวัสดิ์เป็นเรือบ๊าก 2 เสาครึ่ง เวลานี้ไปบรรทุกเกลือเมืองตานี" (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ, 2511 : 59) ในพระนิพนธ์เล่มเดียวกันนี้ ตอนเมืองตานี มีความว่า "พวกแขกทำนาเกลือ ทำสวน ทำนาข้าว...สินค้าใหญ่ที่ซื้อขายและจำหน่ายออก เกลือเป็นใหญ่...เกลือเกวียนแขก 1 เท่า 2 เกวียนไทย ราคา 12 เหรียญ" (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ, 2511 : 59-71)
          ในปี พ.ศ. 2439 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ จากบันทึกรายงานทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความว่า "ภูมลำเนาของเมืองแขกทั้งเจ็ดซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ไปเห็นแลได้สืบสวนทราบความในคราวนี้ เห็นเปนเมืองที่บริบูรณ์อย่างปลาด จะหาเมืองมะลายูเมืองใดในแหลมมะลายูนี้ เปรียบให้เสมอเหมือนเปนอันไม่มี... ในเมืองตานีมีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมะลายู สินค้าเกลือเมืองตานีขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงค์โปร์และเกาะหมาก..." (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2514 : 67) เกลือปัตตานีมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในด้านรสชาติที่กลมกล่อม ไม่เค็มเพียงอย่างเดียว ทำให้มีความแตกต่างกับเกลือจากแหล่งอื่น ผู้บริโภคที่ทราบข้อมูลนี้จะเลือกซื้อเกลือปัตตานี เมื่อใช้เกลือปัตตานีปรุงอาหาร ทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ทำไอศกรีม ดองสะตอ หรือใช้ดองผักผลไม้ต่าง ๆ โดยเฉพาะดองสะตอนั้น หากใช้เกลือปัตตานีจะทำให้สะตอแห้ง ไม่เปื่อยยุ่ย มีรสชาติหวาน มัน อร่อย หรือที่มีชื่อเสียงที่เรียกกัน “ฆาแฆ ตานิง มานิส”(เกลือหวานอ่าวปัตตานี) ซึ่งมีความหมายที่มี รสชาติกลมกล่อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น